ร่วมรักษ์โลก ร่วมสร้าง “เมืองสีเขียวแห่งเอเชีย”
เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ หน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ (Economist Intelligence Unit-EIU) ได้รับมอบหมายจาก SIEMENS ให้เป็นผู้จัดทำดัชนีวัดความเป็นเมืองสีเขียวในเอเชีย โดยศึกษาดัชนีวัดความเป็นเมืองสีเขียว วิเคราะห์ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองหลัก 22 เมืองในทวีปเอเชียในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ ในหมวดต่างๆ 8 หมวดได้แก่ พลังงานและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ที่ดินและอาคารต่างๆ การขนส่ง ขยะ น้ำ สุขาภิบาล คุณภาพอากาศ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ด้วยการศึกษาดัชนีเมืองสีเขียวในยุโรป ตามด้วยปี 2553 ในแอฟริกาใต้ ซึ่งโคเปนเฮเกนได้เป็นเมืองสีเขียวแห่งยุโรป ส่วนกูรีติบา จากประเทศบราซิล ได้เป็นเมืองสีเขียวแห่งแอฟริกาใต้ ในปีนี้จึงเวียนมาถึงทวีปเอเชียกันค่ะ
ผลที่ได้ปรากฏว่า สิงคโปร์ ได้คะแนนสูงที่สุด จากความโดดเด่นมากในการมีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายและมุ่งมั่นพยายามดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่นเดียวกันกับเมืองอื่นๆ อีกหลายเมือง นอกจากนี้ยังพบว่าการรับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและแนวทางของการปกป้องภูมิอากาศกำลังเพิ่มบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น หลายๆ เมืองในเอเชีย เช่น โอซาก้า โตเกียว โยโกฮามา โซล ไทเป และฮ่องกง มีอันดับความเป็นเมืองสีเขียวที่สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของภาพรวมทั้งหมด
จากแผนภาพสรุปข้างต้น จะเห็นว่า กรุงเทพฯ เราอยู่กลางๆ ของค่าเฉลี่ยในภาพรวมค่ะ ซึ่งหากดูในรายละเอียดแล้วพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ คือ
- กรุงเทพฯ ได้คะแนนดีในหมวดการจัดการสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีแผนกที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
- กรุงเทพฯ อยู่ในระดับปานกลางในเรื่องของพลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ประมาณ 6.7 ตันต่อคน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ 22 เมือง ซึ่งอยู่ที่ 4.6 ตันต่อคน
- กรุงเทพฯ ทำได้ค่อนข้างดี ในแง่ที่เกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งด้านพลังงานและการลงทุนด้านพลังงานที่ได้จากขยะ
- กรุงเทพฯ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ในหมวดการใช้ที่ดินและอาคารต่างๆ เนี่องจากมีพื้นที่สีเขียวเพียง 3 ตารางเมตรต่อคน อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ ได้คะแนนดีจากการมีการประชาสัมพันธ์วิธีการปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอาคารต่างๆ
- กรุงเทพฯ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ในหมวดการขนส่ง เนื่องจากมีโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ดีเพียง 0.04 กม.ต่อตารางกิโลเมตร เทียบกับระดับเกณฑ์เฉลี่ยที่ 0.17 กม.ต่อตารางกิโลเมตร
- ยาพหนะกว่า 6 ล้านคันที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากราวๆ 4.2 ล้านคันในปี พ.ศ. 2542 สะท้อนถึงความต้องการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่าการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ
- ในหมวดขยะนั้น กรุงเทพฯ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะมีการสร้างขยะคนละ 535 กก.ต่อคน ในเมืองหลวง ในขณะที่เกณฑ์เฉลี่ยของดัชนีอยู่ที่เพียง 375 กก.ต่อคนและมีการจัดเก็บขยะเพียงร้อยละ 63 เมื่อเทียบกับเกณฑ์เฉลี่ยที่ร้อยละ 83
- กรุงเทพฯ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ในหมวดของน้ำ เนื่องจากมีการใช้น้ำสูงถึง 340 ลิตรต่อคน ขณะที่ค่าเฉลี่ยกลางอยู่ที่ 278 ลิตรต่อคน และการรั่วไหลของน้ำทำให้กรุงเทพฯ ต้องสูญเสียน้ำไปราวร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 22
ที่มา : Green Network, Issue 15 March 2011, Column Green Scoop.
No Comments
No comments yet.
RSS feed for comments on this post. TrackBack URI
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.