แนวคิดในการจัดการพลังงาน

เทคนิคการประหยัดพลังงานสำหรับอาคารมีด้วยกันมากมายหลายอย่าง แต่พอที่จะสรุปเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการพลังงานได้อยู่ 3 ข้อ แนวคิดนี้ได้มาจากชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาองค์กรของผู้เขียนขณะที่ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานในอดีต ที่ปรึกษาท่านนี้บอกว่า การจัดการพลังงาน(Energy Management) มิใช่การไม่ใช้พลังงาน ถ้าเราประหยัดพลังงานเสียจนต้องกระเบียดกระเสียรและทำให้การดำเนินธุรกิจต้องสะดุดติดขัด เมื่อนั้นก็ผิดวัตถุประสงค์ของการประหยัดพลังงานแล้ว

การประหยัดพลังงานจึงควรดำเนินการโดยที่ผู้อยู่อาศัยภายในอาคารยังสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้โดยปกติ แต่ก็มิใช่การใช้อย่างฟุ่มเฟือย ตามธรรมดาแล้ว เมื่อมีการออกแบบอาคารแห่งหนึ่งๆ ผู้ออกแบบจะพิจารณาเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ เพื่อคัดเลือกเครื่องจักรอุปกรณ์และตำแหน่งที่ตั้ง ทิศทางการรับแสงแดด ฯลฯ เพื่อให้อาคารแห่งนั้นมีการใช้พลังงานอย่างประหยัดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการใช้งานอาคารไประยะหนึ่ง มักจะพบว่า การออกแบบพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ช่วงต้นนั้นมีการปรับเปลี่ยนไปมากเนื่องจากวิธีหรือขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ ทำให้การใช้สอยระบบต่างๆ ไม่เป็นการประหยัดพลังงานตามที่มีความตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นในช่วงของการก่อสร้าง

ถ้าเช่นนั้นจะทำอย่างไรดี? ที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นได้ให้ข้อคิดในการจัดการพลังงาน 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

1. ปรับเปลี่ยนการทำงานด้วย “คน”

วิธีที่ง่ายที่สุด มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และควรทำเป็นอันดับแรกคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของ “คน” ที่อยู่อาศัยภายในอาคารนั่นเองค่ะ เช่น การรณรงค์ให้ปิดไฟ ปิดจอคอมพิวเตอร์ ในเวลาที่ไม่ใช้งาน เป็นต้น หรือการตั้งอุณหภูมิห้องให้พอดีๆ โดยที่ผู้อยู่อาศัยสามารถใส่เสื้อธรรมดาทำงานได้ โดยไม่ต้องสวมสูทหรือเสื้อกันหนาว แต่ส่วนคนที่ขี้ร้อนสักหน่อย ก็อาจใช้พัดลมมาช่วยในบริเวณที่นั่งก็ได้ ซึ่งจะประหยัดกว่าการเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำ แต่คนขี้หนาวต้องเอาฮีตเตอร์มาตั้งไว้ใต้โต๊ะ

ความหมายข้อนี้ครอบคลุมกว้างมาก เนื่องจากมีวิธีบริหารจัดการมากมายขึ้นกับสภาพแวดล้อมของอาคาร ผู้อยู่อาศัย รูปแบบการบริหารอาคาร ตัวอย่างในระดับที่ลึกซึ้งกว่านั้น เช่น การทำงานล่วงเวลาซึ่งต้องมีการเปิดไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ ก็อาจให้ผู้ที่ต้องอยู่ล่วงเวลา มานั่งทำงานด้วยกันในพื้นที่หนึ่งๆ ที่จัดเอาไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเปิดระบบไฟและระบบปรับอากาศกระจายกันในหลายพื้นที่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยในอาคาร ในบางแง่มุมก็ไม่อาจทำได้ ซึ่งก็จำเป็นต้องดำเนินการในระดับต่อไป

2. ลงทุนใน “เครื่องจักรใหม่ และอุปกรณ์ประกอบอาคาร”

นอกเหนือจากการปรับพฤติกรรมผู้ใช้งานแล้ว วิธีที่มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นมาอีกสักหน่อย ก็คือการปรับแต่งการใช้งานเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีการติดตั้งใช้งานอยู่ในอาคาร โดยใช้เครื่องมือตรวจสอบและควบคุมการใช้พลังงานเข้ามาช่วย เช่น การติดตั้ง optical sensor หรือ lighting sensor ในการตรวจจับแสงสว่าง เพื่อเปิดปิดไฟตามสภาพแสงที่ต้องการ ไม่เปิดไฟทิ้งเอาไว้ทั้งๆ ที่มีความสว่างมากพอแล้ว หรือการติดตั้งอุปกรณ์ปรับเปลี่ยนปริมาตรลมหรือน้ำ ที่เรียกว่า Variable Air Volume (VAV) และ Variable Water Volume (VWV) ตามลำดับ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในระบบปรับอากาศที่ช่วยทำให้สามารถปรับตั้งเครื่องจักรให้ทำงานไปตามความต้องการใช้งานจริงๆ แตกต่างจากระบบทำความเย็นคงที่แบบเดิม ซึ่งหากมีการผลิตเกินกว่าความต้องการ ก็จะต้องปล่อยพลังงานเหล่านั้นทิ้งไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

การลงทุนใหม่นี้ยังอาจรวมถึงการปรับผังพื้นที่ของการทำงาน ซึ่งทำให้มีการจัดโซนระบบไฟแสงสว่างและระบบปรับอากาศใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานของผู้อยู่อาศัยในอาคาร และมีการใช้พลังงานอย่างประหยัดด้วยค่ะ

ในขั้นตอนของการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ใหม่นี้ ควรมีการตรวจสอบการใช้พลังงานในปัจจุบันอย่างละเอียด และนำมาประกอบการคำนวณเปรียบเทียบว่า หากลงทุนเครื่องจักรอุปกรณ์ใหม่แล้ว อัตราการใช้พลังงานควรจะลดลงเป็นเท่าใด และสามารถบอกระยะเวลาคุ้มทุนได้ โดยทั่วไปการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ใหม่จะมีระยะเวลาคุ้มทุนอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน – 1 ปี

3. เปลี่ยน “แหล่งกำเนิดพลังงาน”

แบบสุดท้ายซึ่งยังไม่ค่อยพบเห็นในประเทศไทยมากนัก ก็คือการเปลี่ยนแหล่งกำเนิดพลังงาน ในประเทศญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแหล่งกำเนิดพลังงาน เช่น การติดตั้ง Turbine generator หรือการตั้งสถานีจ่ายไฟฟ้าของตนเอง หรือมีระบบทำความเย็นแบบ District Cooling (ในกรณีที่เป็นโครงการหรือคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่มากพอ) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าพลังงานลดลง

ทั้งหมดนี้ เป็นแนวคิดซึ่งช่วยกำกับแนวความคิดในการจัดการพลังงาน ซึ่งมีหลากหลายวิธีนับตั้งแต่วิธีการที่ยังไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเลย ไปจนถึงวิธีที่ต้องใช้การลงทุนขนาดใหญ่ การเลือกใช้นโยบายประหยัดพลังงานภายใต้ภาวะเศรษฐกิจตึงตัว จึงควรคิดพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมและพอเพียง โดยไม่จำเป็นต้องซื้อระบบหรืออุปกรณ์ใหม่เท่านั้น ซึ่งจะทำให้องค์กรได้รับประโยชน์จากการจัดการพลังงานอย่างสูงสุด

No Comments

No comments yet.

RSS feed for comments on this post. TrackBack URI

Leave a comment

You must be logged in to post a comment.

WordPress Themes